๔๕๒. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมให้สัมภาษณ์พิเศษ บนเวทีกลาง งาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓

 วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น.  ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ๒๕๖๓ ระหว่างวันที่ ๘ –  ๑๖  สิงหาคม ๒๕๖๓  ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้รับเชิญจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นเกียรติสัมภาษณ์พิเศษ "สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย" โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย  นางคำสอน สระทอง จากจังหวัดกาฬสินธุ์, นางประจวบ จันทร์นวล จากจังหวัดบุรีรัมย์, นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จากจังหวัดนครพนม และ นางสุนา ศรีบุตรโคตร จากจังหวัดอุดรธานี ร่วมให้การสัมภาษณ์

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓  คณะรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ผ้าไทยเป็นสมบัติอันล้ำค่าของลูกหลานชาวไทย เป็นเครื่องมือสำคัญให้คนไทยในชนบทมีอาชีพที่มั่นคง ทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบดีว่าพี่น้องเกษตรกรไทย

 

นอกจากจะทำงานด้านการเกษตรแล้วนั้น ยังมีภูมิปัญญามรดกจากบรรพบุรุษในเรื่องหัตถศิลป์ทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่องผ้า การทอผ้า การประดิษฐ์ผ้า ที่ทรงไปรื้อฟื้นและสืบสาน ไม่ใช่การช่วยด้วยการมอบปลา แต่สอนให้เลี้ยงปลาเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน และยังส่งต่อถึงลูกหลานได้ด้วย โดยมีครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ๕ ทหารเสือศิลปาชีพ ที่มาในวันนี้ถวายงานมาอย่างยาวนาน น่าเสียดายที่วันนี้มาได้เพียง ๔  ท่าน เพราะอีกท่านหนึ่ง คือแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ เพิ่งเสียชีวิตไปกาลเวลาผ่านเลย พระราชปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสนับสนุนผ้าไทย ยังคงสืบสานอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ท่านไม่เคยหยุดเลย ซึ่งทั้ง 5 ทหารเสือศิลปาชีพ ได้กลายเป็นผู้นำชาวบ้าน ฝึกสอนและพัฒนาฝีมือ รวมถึงการจัดประกวดเพื่อพัฒนาฝีมือ และผู้ที่ชนะก็มีการถ่ายทอดต่อไป อีกทั้งยังพระราชทานทุนทรัพย์ เพื่อสร้างกำลังใจ ให้สามารถทำงานในบ้านเกิดของตนเอง เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ผ้าไทยยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน

 

 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มีรากฐานแนวความคิดมาจากโครงการศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะผ้าไทย ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ความนิยมผ้าไทยซาลง กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จับมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รณรงค์เดินสายเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด ให้มีโครงการรณรงค์ใส่ผ้าไทย และโชคดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีในข้างต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ของผ้าแล้วนั้น ยังส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย รวมถึงอนาคตของผ้าไทย

 

"เป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ส่งต่อผ่าน 5 ทหารเสือ และลูกหลานชาวไทยในทุกจังหวัดก็ร่วมใจสืบสานทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของผ้าไทย เพราะถ้าสามารถกลายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ก็จะทำให้ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจศึกษาการทอผ้ามากขึ้น และเมื่อมีคนใส่มากๆ ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ คุ้นเคย จนรู้สึกได้ถึงความงดงามที่มีเอกลักษณ์ จับใจ นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะอยากออกแบบตัดเย็บให้เหมาะกับยุคสมัยของตน ต้องขอบคุณทหารเสือศิลปาชีพทุกท่าน ที่มีความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง อุทิศกายอุทิศใจ สนองพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไปกับกาลเวลา" อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวย้ำ

 

ทางด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า เครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในความมั่นคงของชีวิต หากย้อนเวลาไปยังช่วงต้นของ พ.ศ. ๒๕๐๐ จะเห็นได้เลยว่า วัฒนธรรมผ้าไทยได้หายไปแล้วจากสังคมไทย ทว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่หาที่สุดมิได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยต่างๆ ที่หายไปจากสังคมไทยแล้ว กลับมายืนอยู่คู่แผ่นดินไทย เป็นสมบัติของคนไทยอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

 

โอกาสที่เราได้รับในวันนี้ ได้อยู่ดีมีสุขในแผ่นดินนี้ ก็ด้วยพระบารมีปกเกล้า เดือนสิงหาคมถือเป็นเดือนของสตรีอย่างแท้จริง เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานให้วันที่ ๑ สิงหาคม เป็นวันสตรีไทย และคนไทยทั้งประเทศก็ยกให้วันที่ ๑๒ สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ โชคดีมากที่ในชีวิตของคนไทย มีทั้งแม่ผู้ให้กำเนิดและแม่ของแผ่นดิน พระราชหฤทัยของพระองค์มีแต่ประชาชน และสร้างให้พสกนิกรอยู่ดีมีสุขด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ

 

สำหรับงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี จัดขึ้นทุกปี และในวันนี้ก็ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากทหารเสือศิลปาชีพทุกท่าน มาร่วมพูดคุย และแสดงงานในส่วนของหัตถศิลป์ ศิลปิน OTOP การร่วมสนับสนุนผ้าไทยจะสามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้โดยไม่ยาก ประมาณการว่า หากมีคนไทยแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำสัปดาห์ละ ๒  วัน จำนวน ๓๕  ล้านคน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ ๑๐  เมตร ราคาเมตรละประมาณ ๓๐๐ บาท จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทย จำนวน ๓๕๐  ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า ๑๐๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนมาช่วยกันสนับสนุนสินค้า OTOP ในงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2563 ระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ ๘ –  ๑๖  สิงหาคม ๒๕๖๓  ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวนกว่า ๙๐๐ บูธ และมีไฮไลต์ เช่น การจัดแสดงผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ผ้าที่ชนะการประกวด ผ้าอัตลักษณ์และผ้าชนเผ่า ผ้าที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง, Young OTOP และผ้าทออีสาน รวมถึงยังมี OTOP ชวนชิม อาหารพื้นถิ่นทั่วประเทศ และนิทรรศการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทุกจังหวัด มาอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวชมงานซึ่งมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวดตามมาตรการสาธารณสุข นอกจากจะช่วยเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้อง OTOP แล้ว การอุดหนุนสินค้าทุกชิ้นเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อีกหลายแสนครัวเรือน ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งไปด้วยกัน

ทางด้าน นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ จาก อ.นาหว้า จ.นครพนม เปิดใจว่ารู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายผ้าไหมแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านก็คือการเข้ารับพระราชทานรางวัลประกวดผ้าไหม ซึ่งได้รับรางวัลเกือบทุกปี เป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด และยังทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวดีขึ้น เป็นเรื่องที่ปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด และภาคภูมิใจว่าชาวบ้านธรรมดาๆ ได้เป็นเสี้ยวหนึ่งของประเทศ ที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้พระองค์ฯ ท่านจึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อสืบสานและต่อยอดผ้าไหมมัดหมี่บ้านนาหว้า ในฐานะของครูศิลปาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อย่างเต็มกำลัง

ขณะที่ นางประจวบ จันทร์นวล ซึ่งสืบสานงานผ้าไหมมัดหมี่ จาก อ.นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ภาคภูมิใจในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างที่สุด ที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพทอผ้าและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบทุกครัวเรือนจากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ในบางปีต้องนำผ้าไหมไปแลกข้าวในต่างพื้นที่ห่างไกล กลับทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนเราไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำนาข้าวขาย บางปีแล้งไม่มีรายได้เลย อาชีพทอผ้าที่เคยเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักได้ สานต่ออาชีพของบรรพบุรุษในการทอผ้าจนสำเร็จได้เพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงช่วยสนับสนุน ช่วยพวกเราจนมีทุกอย่างในวันนี้

 

นางประจวบ กล่าวว่า ลายผ้าที่ได้รับรางวัลจะเป็น ลายขอสาม ที่พัฒนาออกแบบลายใหม่ โดยนำลายดั้งเดิมมาดัดแปลงจนได้รับรางวัลที่ 1 ของจังหวัดสกลนคร เมื่อปี ๒๕๔๒ ได้รับรางวัลสร้อยคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ไปเผยแพร่วัฒนธรรมการทอผ้าไหม ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ด้าน นางสุนา ศรีบุตรโคตร จากกลุ่มทอผ้าขิดใหม่บ้านหนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่ากลุ่มก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๒๕ ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ทรงคัดเลือกผ้าไหมลายขิดของครูสุนา ศรีบุตรโคตร ที่มีลวดลายสวยงามพอพระราชหฤทัย ได้รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานรางวัล และทรงรับกลุ่มของครูสุนาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพการทอผ้าขิดไหมบ้านหนองอ้อ และทรงแต่งตั้งครูสุนาเป็นครูหลวง ตามเสด็จไปสอนเด็กกำพร้าในวัง

"เมื่อกลับมาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลาน และชาวบ้านที่ให้ความสนใจในการทอผ้า ร่วมกันพัฒนาทอผ้าฝ้ายลายขิดเป็นผ้าไหมลายขิดจนมีชื่อเสียง และยังคงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกหลาน และผู้ที่สนใจในการทอผ้าจนถึงปัจจุบันค่ะ" ครูศิลป์แห่งแผ่นดินจังหวัดอุดรธานีกล่าวย้ำ

ขณะที่ นางคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ทอผ้า) กล่าวว่า ผ้าแพรวานั้นมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทอให้กันในครัวเรือน ปกติจะให้เป็นผ้าสไบพาดไหล่ใส่ไปงานบุญหรืองานประเพณี ไม่ได้ขายกันแบบสมัยนี้ แต่หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยี่ยนราษฎรที่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐  พระองค์ได้รับสั่งว่าผ้าแพรวานั้นสวยงาม ประณีต และเป็นเอกลักษณ์ของคนที่นี่ จึงอยากให้ทอผ้าเพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเอาไว้ หลังจากนั้นมา ตนก็มีอาชีพทอผ้าแพรวา และศิลปินด้านผ้าทอภูไทจนถึงบัดนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงทอผ้าถวายสมเด็จพระราชินีอยู่เสมอ และนอกจากทอผ้าแล้ว ก็ยังถ่ายทอดความรู้ของแพรวากาฬสินธุ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย.

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

 

ดาวน์โหลด