๔๒๒. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเตรียมการคัดเลือกเยาวสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓

วันนี้ (๙ มิถุนายน ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๓๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบหมายให้ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นางศรีวรรณ สายฟ้า รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯท ดร.สมจิตร ศิริเสนา เลขาธิการสภาสตรีแห่งชาติฯ เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อประชุมคัดเลือกเยาวสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓ โดยมีนายชาญวุฒิ วงศ์เพ็งผู้อำนวยการสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ๑ อาคารบ้านพระกรุณานิวาสน์ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๒๑.คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน

นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยแต่งกายผ้าไทย สืบสานอัตลักษณ์ให้คงอยู่ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๘. ๓๐ น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตร กระทรวงมหาดไทย นำโดย พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำคณะจัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมและผลการดำเนินโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน อาทินายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาขุมชน (พช.)เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อจัดแสดงนิทรรศการผ้าไทย และผลการดำเนินงานโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”พร้อมอุดหนุนผ้าคลุมไหล่แพรวา จากจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๒ ผืน กระเป๋าจักสานจากเตยตานีของจังหวัดตรัง จำนวน ๒ ใบ กระเป๋าใส่เอกสารทำจากผ้าขาวม้า ของจังหวัดอำนาจเจริญอีก ๒ ใบ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเชิญชวนแต่งกายด้วยชุดผ้าไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่อัตตลักษณ์ผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่ และสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่พี่น้องประชาชนในท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ได้อุดหนุนผ้าคลุมไหล่แพรวา จากจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๒ ผืน กระเป๋าจักสานจากเตยตานีของจังหวัดตรัง จำนวน ๒ ใบ กระเป๋าใส่เอกสารทำจากผ้าขาวม้า ของจังหวัดอำนาจเจริญ ๒ ใบ
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม อันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการถ่ายทอดหัตถกรรมผ่านผ้าทอจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ ผ้าพื้นถิ่นไทยให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของผู้ประกอบการผ้าในท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การรณรงค์กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ผ้าทอพื้นเมืองซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจะก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ประมาณการว่าหากมีคนไทยแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำสัปดาห์ละ ๒ วัน จำนวน ๓๕ ล้านคน จะทำให้มีการซื้อผ้าและใช้ผ้าคนละ ๑๐ เมตร ราคาเมตรละประมาณ ๓๐๐ บาท จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทย จำนวน ๓๕๐ ล้านเมตร คิดเป็นมูลค่า ๑๐๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะกลับคืนสู่ชุมชนก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนนำเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญคือการกำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วันทั้งนี้ รวมทั้งให้ทุกกระทรวงพิจารณาจัดทำมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยสร้างการรับรู้และความเข้าใจผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ตลอดจนการจัดทำแผนรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองแก่ส่วนราชการในสังกัด และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

นอกจากนั้น รวมไปถึงจัดให้มีการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทย ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชน ช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการขายผ้าไทยในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙รวมถึงยังให้ประกาศยกย่องหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดที่รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองที่เกิดผลเป็นรูปธรรมอีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยดังกล่าว ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย อย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้นำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้ก่อเกิดรายได้แก่ราษฎร รวมถึงเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น อีกทั้งเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวต่างชาติอีกด้วย โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามโครงการฯ กับ ๗๕ จังหวัด และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในส่วนกลาง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นต้นเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระบุว่า การดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” เป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศต่อไป ซึ่งผลการดำเนินโครงการ ณ ปัจจุบัน มียอดจำหน่ายประเภทผ้า ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจฐานราก จำนวน ๑๓,๔๖๕,๑๖๖,๗๕๔ บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๓ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. ๒๕๖๒
“หากข้าราชการ ประชาชน ร่วมมือร่วมใจแต่งกายด้วยผ้าไทยเป็นประจำ จำนวน ๓๕ ล้านคน เฉลี่ยใช้ผ้าคนละ ๑๐ เมตร ราคาเมตรละประมาณ ๓๐๐ บาท ก็จะทำให้เกิดความต้องการผ้าไทยถึง 350 ล้านเมตร และก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชนคิดเป็นเงินกว่า ๑๐๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้เฉพาะการดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” นั้นมีผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการจำหน่ายผ้า จำนวน ๖๔,๕๓๒ ราย มีผู้ได้รับประโยชน์ จำนวน ๓๖๓,๘๗๖ ราย ดังนั้นการร่วมสวมใส่ผ้าไทย นอกจากจะช่วยร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย” ดร.วันดีกล่าว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๒๐. อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ให้กำลังใจกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หนุนสืบสานพระราชปณิธาน "สมเด็จพระพันปีหลวง" อนุรักษ์ผ้าไทย

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางลงพื้นที่ เยี่ยมชมกลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา กลุ่ม OTOP ที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าทอมือ กิจกรรมส่งเสริมสตรีร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทยของคณะทำงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมนายกเหล่ากาชาดจังหวัด นายธนูศิลป์ ไชยศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางเพ็ญศิริญา ตั้งตระกูลวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐฯ และ นางประเสริฐ เพ็ญจันทร์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จังหวัดอำนาจเจริญ ให้การต้อนรับ
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยโดยเฉพาะผ้าไทยตลอดกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไปเยี่ยมเยียนราษฎร พระองค์ท่านจะอุดหนุน แนะนำ สวมใส่และจัดประกวดผ้าไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสสำคัญที่ว่า “Our Loss is our gain” ขาดทุน คือ กำไร ขาดทุนของเรา คือกำไรของประชาชนทุกคน ซึ่งหมายความว่าพระองค์ท่านทรงอุดหนุนเพื่อช่วยประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีกำลังใจในการกลับไปทอผ้า เราทุกคนจึงต้องตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ยังทำให้พวกเรามีอาชีพ มีรายได้ และทำให้พวกเรามีผ้าประจำถิ่น ประจำจังหวัดของพวกเราเอง
ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรื้อฟื้นไว้เพื่อต่อลมหายใจของผ้าไทย จึงได้ฝากให้ตระหนักในการส่งเสริมให้ลูกหลานได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการทอผ้า การย้อมผ้า การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ที่เกี่ยวกับผ้า รวมทั้งการฝึกการทอผ้า จึงขอฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาของจังหวัด ช่วยหาโอกาสผลักดันให้วิชาเกี่ยวกับผ้าเป็นวิชาเสริมในหลักสูตรของทุกโรงเรียนในจังหวัดอำนาจเจริญ รวมถึงช่วยกันปลูกฝังในเรื่องของการปลูกพืชผักสวนครัว ให้กับคนรุ่นหลังด้วย เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้
ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาจังหวัดอำนาจเจริญเป็นครั้งที่ ๒ โดยวันนี้ได้มาพร้อมกับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และทีมงานที่ได้กรุณาเสียสละเวลา ให้ผมได้มีโอกาสได้รับความรู้ และเป็นกำลังใจ ไปกับพี่ ๆ น้อง ๆ กลุ่มทอผ้า กลุ่มพลังสตรีฯ ที่เป็นหลักของครอบครัว และของประเทศชาติ ซึ่งในวันนี้ก็มีข่าวดีด้วย อย่างแรกคือขอเชิญชวนให้ทุกท่านหันมาปลูกพืชผักสวนครัวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงมีพืชผักที่ปลอดภัยในการรับประทานอาหาร และอีกเรื่องที่มีความสำคัญและต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้ที่รับเรื่องเพื่อเสนอ ครม. ก็คือ กรมการพัฒนาชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาสตรีฯ ในการรณรงค์ให้คนสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น รณรงค์ให้ทุกส่วนราชการสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งเป้าหมายที่ท่านประธานสภาสตรีฯ ได้กำหนดไว้ให้สวมใส่ทุกวันจึงเป็นผลสำเร็จ รวมถึงการเผยแพร่ทางแผ่นพับ โบรชัวร์ ป้ายการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนรู้จักผ้าไทยกันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นจะมีการรวบรวม เรื่องราวของผ้าไทยทุกจังหวัด ทั้งเรื่องลายผ้ารวมถึงการทอผ้า การทำแบบนี้มุ่งหวังให้พวกเรามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ทุกวันนี้คนทอผ้าไม่มีมาก เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ทอผ้ากัน เพราะฉะนั้นจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นจังหวัดน้องนุชสุดท้องต้องช่วยกัน ให้ลูกหลานได้สืบสานรักษามรดกผ้าไทยเอาไว้ เพราะว่าเป็นความภาคภูมิใจ เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้กับเรา ต้องช่วยกันรักษาสืบทอดไม่ให้หายไปจากประเทศของเรา” อธิบดี พช.กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกลุ่ม OTOP ที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมส่งเสริมจนมีศักยภาพสามารถปรับตัวให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำผ้าขาวม้าทอมือชาวบ้านในท้องถิ่นของจังหวัดอำนาจเจริญ ทั้ง ๗ อำเภอ มาแปรรูปเป็นกระเป๋าและของใช้ต่างๆ และตัดเย็บโดยกลุ่มแปรรูปผ้าในจังหวัด แล้วใช้ช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนอำนาจเจริญ เดือนละมากกว่า ๑ ล้านบาท จากการทอผ้ากว่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท และรายได้จากการแปรรูปผ้าคือเย็บกระเป๋า ตัดเย็บเสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ อีกกว่าเดือนละ 500,000 บาท จนเป็นที่มาของคำว่า “อำนาจเจริญ ผ้าขาวม้าเงินล้าน”

ขอบคุณ : ภาพข่าวกรมกรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ

๔๑๙. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน มอบถุงยังชีพให้ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันนี้ ( วันอังคารที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๓๐ น.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางไปมอบถุงยังชีพ จำนวน ๓๐๐ ชุดให้กับพี่น้องประชาชนชาวชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตามโครงการ “เติมความสุข บรรเทาทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน”สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ โดยมี นายจิตติศักดิ์ พลางกูร ประธานชุมชนวัดโสมนัส ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย นางมนวิภา ประชัญคดี นายกสมาคมส่งเสริมบุคลิกสตรี องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ นางรัศรินทร์ ลัคใหม่กุลวัฒน์ เลขานุการสมาคมฯ และคณะกรรมการ สมาคมฯ และนายยุทธนา ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กล่าวรายงานสภาพความเป็นอยู่และปัญหาของประชากรในพื้นที่ ที่ได้รับกระทบจากสถานะการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID – ๑๙) รวมถึงการมอบถุงยังชีพให้ผู้ป่วยติดเตียง จำนวน ๑๐ ราย ต่อประธานในพิธี จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวปราศรัยพบปะทักทายประชาชนที่มาร่วมงาน ณ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การปฏิบัติของประชาชนอยู่แล้ว โดยขับเคลื่อนหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ในระดับครัวเรือน ระดับกลุ่มอาชีพ ระดับชุมชน ทั้งยังเดินตามแนวคำสอนที่ทรงดำริไว้ว่า ให้ปลูกป่า ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง ได้แก่ ปลูกป่าสำหรับไม้ใช้สอย ปลูกป่าสำหรับไม้ผล ปลูกป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ สามารถนำไม้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ และเมื่อทำทั้ง ๓ อย่างแล้ว เราจะได้รับอย่างที่ ๔ นั่นคือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงเรียกได้ว่า ได้ทั้งใช้งาน ดำรงชีวิต และอนุรักษ์ไปด้วยพร้อมกันนั่นเอง จึงเชิญชวนพี่น้องทุกครัวเรือนร่วมใจกันปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหารและลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดปฏิบัติการ ๙๐ วัน นับจากวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ จะร่วมกับพี่น้องทุกครัวเรือนทั้งประเทศ ปลูกผักสวนครัวให้ครบทุกครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ๕๐ บาท/ครัวเรือน/วันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้กว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติฯ จัดทำโครงการ “เติมความสุข แบ่งเบาความทุกข์” ด้วยการแบ่งปัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- ๑๙ โดยตั้งเป้าหมาย มอบแจกจ่ายถุงยังชีพไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเดินทางไปมอบถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชนไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ ที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ ที่ชุมชนเคหะห้วยขวาง กรุงเทพฯ ที่ชุมชนบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ และที่ชุมชน จะทะยอยเดินทางไปมอบถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น ตามเป้าหมายที่เรียนไว้ข้างต้นต่อไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๑๘. ประธานสภาสตรีแห่งชาติ นำคณะกรรมการ สภาสตรีแห่งชาติ ฯ ลงนามถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันนี้ (๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ) เวลา ๐๙.๐๐ น. และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ และ ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ฯ นำคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และองค์กรสมาชิก ทูลเกล้าถวายแจกันดอกไม้ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เพื่อแสดงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๑๗. อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน -ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลูกต้นไม้มงคลที่ลานวัดระฆังเป็นพุทธบูชา ถวายพระราชกุศล สมเด็จพระบรมราชินีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ พระเดชพระคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มอบหมายให้ พระบวรรังษี เจ้าคณะแขวงศิริราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และพระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้ร่วมในพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และปลูกต้นไม้มงคล32ต้น โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรมการพัฒนาชุมชน ปลูกต้นไม้มงคล จำนวน 32 ต้นที่วัดระฆังโฆสิตาราม บริเวณพื้นที่หน้าพระอุโบสถอันเป็นลานที่ประดิษฐานของระฆังขนาดใหญ่เป็นสัญญลักษณ์สำคัญของวัด โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดเผยหลังพิธีว่าวันนี้เป็นวันมหามงคลยิ่งของชาวไทยทั้งประเทศที่วันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ กรมการพัฒนาชุมชนและสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัด และคณะสงฆ์วัดระฆังโฆษิตารามให้มากระทำพิธีถวายราชสักการะและปลูกต้นไม้มงคลได้แก่ต้นชุมแสง ๒ ต้น ต้นพิกุล ๔ ต้น ต้นราชพฤกษ์ ๖ ต้น ต้นอินทนิลซึ่งเป็นต้นไม้ที่ออกดอกเป็นสีม่วงตามวันพระราชสมภพจำนวน ๒๐ ต้น รวมทั้งหมด ๓๒ ต้น การปลูกต้นไม้มงคลในวันนี้เพื่อเป็นการทำนุบำรุงวัดอันเป็นศาสนสถานที่สำคัญคู่บ้านเมืองให้ร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ช่วยลดภาวะโลกร้อน เป็นปฎิบัติบูชากิจกรรมหนึ่งซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนและสภาสตรีแห่งชาติฯตั้งใจทำเพื่อน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเพื่อให้การปลูกต้นไม้มงคลจำนวน ๓๒ ต้นในครั้งนี้จะช่วยสร้างความร่มเย็นให้กับพื้นที่วัดรวมทั้งประชาชนที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติธรรมในบริเวณวัดได้อย่างยาวนาน กรมการพัฒนาชุมชนกับสภาสตรีแห่งชาติฯจะรับเป็นธุระในการทำนุบำรุงต้นไม้ทั้ง ๓๒ ต้น ให้งอกงามอยู่คู่วัดตลอดไป

ส่วน ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้เปิดเผยว่ารู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ได้เมตตาอนุญาตให้มาดำเนินการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวันสำคัญของชาติเช่นนี้ในวัดศักดิ์สิทธิที่มีอานุภาพแห่งบุญบารมีของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พรหมรังสี ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนิกชน ซึ่งนอกจากวัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดระฆัง ประชาชนนิยมไปกราบไหว้สักการะรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี แล้ว ยังนิยมชมหอพระไตรปิฏกสมัยรัชกาลที่ 1ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีประวัติสำคัญเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๑๖. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงฉะเชิงเทรา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งรวมพลังกลุ่มองค์กรสตรีทั่วประเทศ สนับสนุนโครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” สภาสตรีแห่งชาติฯ ให้พี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙

วันนี้ (๒ มิถุนายน ๒๕๖๓) เวลา ๑๔.๐๐ น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบหมายให้ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ รับมอบถุงยังชีพ จากนางสุรวดี เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกสมาคมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และนางอนันตยา พรชูตรง เลขานุการสมาคม นางพรภิรมย์ ศิริปุณย์ กรรมการ นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ และนางสาวออมสิน ศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย ถุงยังชีพ จำนวน ๑๕๐ ชุด มอบข้าวสารจำนวน ๑๕๐ ถุง ๆ ละ ๕ กิโล ไข่ไก่สด จำนวน ๑๕๐ กะบะ เพื่อสนับสนุน โครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ของสภาสตรีแห่งชาติฯ นำไปมอบให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เป็นการแบ่งบันความสุข และร่วมเป็นส่วนหนึ่งรวมพลังกลุ่มองค์กรสตรีทั่วประเทศ ร่วมใจกันแบ่งปันสิ่งของ รวมพลังน้ำใจสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทางอ้อม และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการ ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของหน่วยงานภาครัฐ ในบทบาทที่สตรีไทยสามารถช่วยสนันสนุนได้ในภาวะวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (COVID – ๑๙)

ณ บ้านพระกรุณานิวาสน์ สภาสตรีแห่งชาติฯ กรุงเทพฯ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ



๔๑๕. สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน มอบบ้านอยู่ดีมีสุข ให้กับครัวเรือนยากไร้ ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระบรมราชินี วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันอังคารที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ และดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี รองประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นำคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางไป มอบบ้านอยู่ดีมีสุข ให้กับครัวเรือนยากไร้ จำนวน ๒ หลัง เพื่อถวายพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ และ นางสาวณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย (สธวท-นครปฐม) องค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะกรรมการ สธวท-นครปฐม พร้อมด้วย นายนิวัติ หิรัญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตลาด นางทิพวรรณ หิรัญ กำนันตำบลท่าตลาด ให้การต้อนรับ และนางทัศนีย์ ชัยคุณแสง พัฒนาการจังหวัดนครปฐม กล่าวรายงานความเป็นมาของการมอบบ้านในครั้งนี้ และเรียนเชิญ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวการมอบบ้านอยู่ดีมีสุข ให้กับ ครอบครัวผู้ยากไร้ คือ นายบุญช่วย จันทร์สมบูรณ์ และ นางสาวละเอียด กุลโคก โดย ได้รับเกียรติจากนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวขอบคุณ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ณ หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าตลาด อำเภอสานพราน จังหวัดนครปฐม
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ กล่าวว่า จากการได้เยี่ยมบ้านเพื่อ มอบถุงยังชีพ ตาม“โครงการเติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ให้ชาว ชุมชนในเขตอำเภอสามพราน นครปฐม และได้มาเยี่ยมบ้าน นายบุญช่วย จันทร์สมบูรณ์ และครอบครัวของนางสาวละเอียด กุลโคก พบว่าไม่มีบ้านอยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ จึงได้ตกลงที่จะสร้างบ้านใหม่ให้ทั้ง ๒ ครอบครัวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓ มิ ถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อถวายพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวให้กำลังใจกับครอบครัวผู้ยากไร้ทั้ง ๒ ครอบครัว ที่ได้รับบ้านอยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ และให้คำแนะนำการปลูกผักสวนครัวเรือน เพื่อมีผักสวนครัวไว้ทานเอง ลดค่าใช้จ่ายและในโอกาสนี้ท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเชิญชวนคนไทยร่วมกันปลูกผักสวนครัวจนเป็นอุปนิสัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกคนและมีความสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อยืนยันถึงสิ่งนี้ จึงเชิญชวนมาร่วมเป็นสมาชิก Facebook กลุ่มที่ชื่อว่า “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.” เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจร่วมกันในการปลูกพืชผักสวนครัว โดยจะมีภาพบรรยากาศการปลูกผักของคนไทยจากทั่วประเทศที่แชร์มาให้ชมกันทุก ๆ วัน สร้างวัฒนธรรมในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองในครัวเรือน แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูง โดยในช่วงนี้พบว่ามีประชาชนตื่นตัวในการปลูกพืชผักสูง โดยสังเกตได้จากมีคนไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก กล้าไม้ จากตลาดต้นไม้ มากกว่าปกติ แสดงว่าการรณรงค์ให้คนปลูกผักประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดปฏิบัติการ ๙๐ วัน นับจากวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ จะร่วมกับพี่น้องทุกครัวเรือนทั้งประเทศ ปลูกผักสวนครัวให้ครบทุกครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ๕๐ บาท/ครัวเรือน/วันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้กว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี
“กิจกรรมปลูกผักสวนครัวนี้ นอกจากจะได้สร้างความรัก ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในครอบครัวแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวทำให้มีเงินเหลือเก็บ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งซื้อผักวันละ ๕๐ บาท ถ้าคนไทย ๑๓ ล้านครอบครัว ปลูกผักทานเองจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ๖๕๐ ล้านบาทต่อวัน และถ้าหนึ่งปีทำได้ ๒๐๐ วัน ก็จะประหยัดได้ถึง ๑.๓ แสนล้านบาทต่อปี สามารถนำไปเป็นทุนการศึกษาลูก และเก็บเงินไว้ใช้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๑๔. ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นำข้าราชการ ผู้นำชุมชน และสตรีอาสาพัฒนา ปลูกต้นไม้ในโครงการ “รวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย, ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายโชคชัย แก้วป่อง นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวีระศักดิ์ ศรีโสภา นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าฯ ชัยนาท นางเสริมศรี ศรีวงษ์ญาติดี รองนายก อบจ.ชัยนาท ดร.พิเชฐร์ วันทอง ผอ.สพป.สิงห์บุรี พร้อมคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ สตรีอาสาพัฒนา ผู้นำกลุ่มองค์กรเครือข่ายสมาชิกคนรักเขาขยาย และประชาชน ร่วมกิจกรรมเปิดโครงการ “รวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” ร่วมปลูกต้นไม้ ๑,๐๔๒ ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ณ เขาขยาย ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การปฏิบัติของประชาชน โดยขับเคลื่อนหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในระดับครัวเรือน ระดับกลุ่มอาชีพ ระดับชุมชน และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานแก่ราษฎร ว่า "…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันก็จะสร้างป่า" จะเห็นได้ว่า ทรงมีพระราชดำริในการรักษา ฟื้นฟูป่าไม้ ป่าต้นน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน และ สภาสตรีแห่งชาติฯ จึงได้ร่วมกันดำเนินงาน “โครงการรวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีขึ้น ทุกอย่างในวันนี้สำเร็จได้เพราะความร่วมมือของทุกคน เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โครงการรวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรตินี้ เริ่มวันนี้วันแรกที่พื้นที่ต้นแบบ ณ เขาขยาย แห่งนี้ เราร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน 1,042 ต้น เป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ เช่น ต้นตะแบก ต้นเสลา ต้นอินทนิล ซึ่งเป็นต้นไม้มีดอกสีม่วงสวยงาม ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ นับเป็นคุณูปการต่อเรา ช่วยลดโลกร้อน เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า สภาสตรีฯ ได้ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้จัดโครงการเติมความสุข แบ่งเบาความสุข ด้วยการแบ่งปัน จัดถุงยังชีพไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ถุง ขณะนี้ก็แจกจ่ายไปแล้วกว่า ๒,๐๐๐ ถุงทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-๑๙ โครงการ “รวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” ยังเป็นอีกโครงการที่เป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่และน่ายินดี

“ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจร่วมกันในการทำความดี เพื่อถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ด้วยการปลูกต้นไม้จำนวนทั้งหมด ๑,๐๔๒ ต้น และขอให้พวกเราได้มีโอกาสกลับมารักษาต้นไม้ นอกจากจำนวน ๑,๐๔๒ ต้นนี้ด้วย และช่วยกันรักษาต้นไม้อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน”ดร.วันดีกล่าว

สำหรับ โครงการ “รวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑- ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ และร่วมแสดงพลังสตรีอาสาพัฒนาทุกระดับในการขับเคลื่อนโครงการฯ ในพื้นที่ต่างๆจำนวน 22 แห่ง โดยกิจกรรมที่กำหนดไว้ อาทิ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลและบำรุงรักษาต้นไม้ การใช้ประโยชน์จากต้นไม้, ร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจัดกิจกรรมรวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชัยนาท

ขอบคุณ: ภาพข่าวกรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ

๔๑๓.สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน มอบถุงยังชีพบรรเทาทุกข์ ให้ชุมชนบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันนี้ (ศุกร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยนางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติฯ และ นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ รองประธานสภาสตรีแห่งชาติ ฯ นำคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางไปมอบถุงยังชีพ จำนวน ๒๖๐ ชุดให้กับ พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-๑๙ ตามโครงการ “เติมความสุข บรรเทาทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” สภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ ให้แก่ ชาวชุมชนแขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยมี นางศิรินทิพย์ มีนมณี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีนีรชาบริหารธุรกิจ กล่าวต้อนรับ ประธานในพิธี และ จ.ส.อ.ชัยวัฒน์ ขวัญมงคล ประธานเครือข่ายช่วยเหลือคนพิการคลองสามวา กล่าวรายงานสภาพความเป็นอยู่และปัญหาของผู้พิการผู้ป่วยนอนติดเตียง และผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวปราศรัยพบปะทักทายประชาชน รวมถึงที่มาร่วมงาน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.)ที่ดูแลในชุมชน ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีนีรชาบริหารธุรกิจ เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวให้กำลังใจกับพี่น้องประชาชนชาวชุมชนแขวงบางชัน เขตคลองสามวา และกล่าวถึงนโยบายของท่านอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เชิญชวนพี่น้องทุกครัวเรือนร่วมใจกันปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหารและลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดปฏิบัติการ ๙๐ วัน นับจากวันที่ ๑ เมษายน ถึง ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ จะร่วมกับพี่น้องทุกครัวเรือนทั้งประเทศ ปลูกผักสวนครัวให้ครบทุกครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ๕๐ บาท/ครัวเรือน/วันจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนได้กว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท/ปี

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า “ในส่วนของสภาสตรีแห่งชาติฯ นั้น ได้จัดโครงการหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- ๑๙ โดยเฉพาะการแจกจ่ายถุงยังชีพไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ถุง ภายใต้โครงการ โครงการเติมความสุข แบ่งเบาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ โดยสภาสตรีแห่งชาติฯร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการเดินทางไปมอบถุงยังชีพให้พี่น้องประชาชนไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ ที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ และจะทะยอยเดินทางไปมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ถุง ตามที่เรียนไว้ข้างต้น จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

จากนั้น ประธานในพิธี และคณะ เดินทางไปมอบถุงยังชีพเยี่ยมเยียนให้กำลังใจบ้านผู้พิการติดเตียงจำนวน ๒ ราย คือ นางนพวรรณ มานะวะ กับนางนางบุญเริ่ม มานะวะ และ บริเวณ ถนนพระยาสุเรนทร์ ๑๖ แยก ๑ บางชัน คลองสามวา กทม.
ขอบคุณ: ภาพกรมการพัฒนาชุมชน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ